อธิบายไวยากรณ์

สรุปไวยากรณ์จากบทที่ 1

คำศัพท์เปลี่ยนรูป

คำศัพท์ภาษาละตินเปลี่ยนรูปตามหน้าที่ของมันในประโยคหรือตามความสัมพันธ์ของมันกับคำศัพท์อื่น ๆ ในประโยค ตัวอย่างจากในบทอ่านเช่น

  • Italia มีความหมายว่า “อิตาลี” เมื่อใช้ในความหมายว่า “ในอิตาลี” จะเปลี่ยนเป็น in Italiā
  • magnus เป็นคำคุณศัพท์ที่มีความหมายว่า “ใหญ่” เมื่อใช้ขยายคำว่า fluvius (“แม่น้ำ”) จะอยู่ในรูปเดิมคือ fluvius magnus (“แม่น้ำใหญ่”) แต่เมื่อใช้ขยายคำว่า oppidum (“เมือง”) จะเปลี่ยนเป็น oppidum magnum (“เมืองใหญ่”)

บางภาษาเช่นภาษาไทยหรือภาษาจีนไม่มีการเปลี่ยนรูปเช่นนี้ คำศัพท์จะคงรูปเดิมและออกเสียงดังเดิมไม่ว่าจะมีหน้าที่ใดหรือความสัมพันธ์เช่นใดกับคำศัพท์อื่น ๆ ในประโยค ขณะเดียวกันบางภาษาเช่นภาษาอังกฤษมีการเปลี่ยนรูปบ้างแต่ไม่มากเท่าภาษาละติน เช่น river (“แม่น้ำ”) เปลี่ยนเป็น rivers เมื่อกล่าวถึงแม่น้ำมากกว่าหนึ่งสาย หรือ he (สรรพนาม “เขา”) เปลี่ยนเป็น his เมื่อใช้ในความหมายว่า “ของเขา”

ในภาษาละตินคำนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ จะเปลี่ยนรูปเสมอ ในบทนี้เราจะพูดถึงการเปลี่ยนรูปแค่เบื้องต้นเท่านั้น ภาษาละตินมีการเปลี่ยนรูปมากมายและผู้เรียนจะค่อย ๆ เรียนการเปลี่ยนรูปต่าง ๆ ในบทเรียนต่อจากนี้

เพศของคำนาม

คำนามในภาษาละตินจัดเป็นสามเพศ: เพศชาย เพศหญิง และเพศกลาง เพศของคำนามมักจะเป็นไปตามเพศทางชีววิทยาของสิ่งที่คำนามชี้ เช่น vir แปลว่า “ผู้ชาย” เป็นคำนามเพศชาย puella แปลว่า “เด็กหญิง” เป็นคำนามเพศหญิง อย่างไรก็ดีสิ่งที่ไม่มีเพศก็ถูกจัดเป็นเพศต่าง ๆ ด้วย เช่น fluvius “แม่น้ำ” เป็นคำนามเพศชาย īnsula “เกาะ” เป็นคำนามเพศหญิง oppidum “เมือง” เป็นคำนามเพศกลาง

ผู้เรียนควรจำเพศของคำนามเมื่อจำคำศัพท์ด้วย เพราะว่าการเปลี่ยนรูปของคำนามต่างกันตามเพศ อีกทั้งการเปลี่ยนรูปของคำคุณศัพท์ก็เปลี่ยนไปตามเพศของคำนามที่มันขยายด้วยเช่นกัน

พจน์ของคำนาม

คำนามในภาษาละตินเปลี่ยนรูปตามพจน์ กล่าวคือจำนวนที่คำนามนั้นชี้ในประโยคคล้ายกับภาษาอังกฤษ (เทียบ river/rivers, island/islands, town/towns)

คำนามเพศชายที่ลงท้ายด้วย -us ที่เราพบในบทนี้เปลี่ยนรูปดังต่อไปนี้

  • fluvius – (singulāris – เอกพจน์)
  • fluviī – (plūrāris – พหูพจน์)

คำนามเพศหญิงที่ลงท้ายด้วย -a ที่เราพบในบทนี้เปลี่ยนรูปดังต่อไปนี้

  • īnsula – (singulāris – เอกพจน์)
  • īnsulae – (plūrāris – พหูพจน์)

คำนามเพศกลางที่ลงท้ายด้วย -um ที่เราพบในบทนี้เปลี่ยนรูปดังต่อไปนี้

  • oppidum – (singulāris – เอกพจน์)
  • oppida – (plūrāris – พหูพจน์)

การเปลี่ยนรูปของคำคุณศัพท์

คำคุณศัพท์ในภาษาละตินเปลี่ยนรูปตามคำนามที่มันขยาย โดยขึ้นอยู่กับเพศและพจน์ของคำนานนั้นด้วย หมายความว่าคำคุณศัพท์คำเดียวกันจะมีรูปต่างกันเมื่อมันขยายคำนามเพศชายเอกพจน์กับคำนามเพศกลางพหูพจน์ เป็นต้น

คำคุณศัพท์ที่เราพบในบทนี้เปลี่ยนรูปดังต่อไปนี้

เมื่อขยายคำนามเพศชาย (ยก fluvius เป็นตัวอย่าง)

  • fluvius magnus – singulāris
  • fluviī magnī – plūrāris

เมื่อขยายคำนามเพศหญิง (ยก īnsula เป็นตัวอย่าง)

  • īnsula magna – singulāris
  • īnsulae magnae – plūrāris

เมื่อขยายคำนามเพศกลาง (ยก oppidum เป็นตัวอย่าง)

  • oppidum magnum – singulāris
  • oppida magna – plūrālis

จากในบทอ่านเราจะสังเกตได้ด้วยว่าคำคุณศัพท์สามารถปรากฏได้ทั้งหน้าและหลังคำนามที่มันขยาย ต่างจากภาษาไทย (ที่คำคุณศัพท์จะปรากฏหลังคำนามที่มันขยายเสมอ: “เมืองใหญ่”) และภาษาอังกฤษ (ที่คำคุณศัพท์จะปรากฏหน้าคำนามที่มันขยายเสมอ: “large town”)

ลำดับคำ

คำในประโยคในภาษาไทยและภาษาอังกฤษมักจะเรียงลำดับ “ประธาน-กริยา-กรรม” เรารู้หน้าที่ของคำในประโยคในภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากตำแหน่งของแต่ละคำเมื่อเทียบกับคำอื่น ๆ ในประโยค ขณะเดียวกันในภาษาละตินลำดับของคำไม่ตายตัวเหมือนภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ เพราะว่าคำในประโยคเปลี่ยนรูปตามหน้าที่หรือความสัมพันธ์ต่อคำอื่น ๆ ในประโยค ดังนั้นคำในภาษาละตินจึงไม่จำเป็นต้องมีลำดับตายตัว ตัวอย่างประโยคต่อไปนี้ในภาษาละตินทั้งหมดมีความหมายว่า “สปาร์ตาอยู่ในกรีซ”

  • Sparta est in Graeciā.
  • Sparta in Graeciā est.
  • Est in Graeciā Sparta.
  • Est Sparta in Graeciā.
  • In Graeciā Sparta est.
  • In Graeciā est Sparta.

กริยาเปลี่ยนรูปตามพจน์

กริยาในภาษาละตินเปลี่ยนรูปตามพจน์ ตัวอย่างจากในบทนี้คือ

  • Italia in Europā est.
  • Italia et Graecia in Europā sunt. การเปลี่ยนรูปนี้คล้ายกับภาษาอังกฤษที่กริยาทั่วไปเติม -s ในบุรุษที่สามเอกพจน์ หรือกริยา to be ที่เปลี่ยนรูปต่าง ๆ กันตามบุรุษและพจน์ กริยาในภาษาละตินเปลี่ยนรูปสำหรับทุกบุรุษและพจน์ อย่างไรก็ดีในบทนี้เราเจอแค่กริยา est/sunt ในบุรุษที่สามเท่านั้น

คำศัพท์ใหม่

fluvius
แม่น้ำ
īnsula
เกาะ
oppidum
เมือง
ōceanus
มหาสมุทร
imperium
จักรวรรดิ
prōvincia
มณฑล
numerus
จำนวน, ตัวเลข
littera
ตัวอักษร
vocābulum
คำศัพท์
capitulum
บท (ในหนังสือ)
syllaba
พยางค์
exemplum
ตัวอย่าง
pēnsum
แบบฝึกหัด (?)
magnus
ใหญ่
parvus
เล็ก
Graecus
ของกรีซ
Rōmānus
ของโรม
Latīnus
ของภาษาละติน
multī
มาก, เยอะ
paucī
น้อย
ūnus
หนึ่ง
duo
สอง
trēs
สาม
sex
หก
mīlle
พัน (จำนวน)
prīmus
ที่หนึ่ง
secundus
ที่สอง
tertius
ที่สาม
est
เป็น/อยู่/คือ ในบุรุษที่สาม เอกพจน์ กาลปัจจุบัน มาลาบอกเล่า copula verb เทียบได้กับ (EN) to be
sunt
เป็น/อยู่/คือ ในบุรุษที่สาม พหูพจน์ กาลปัจจุบัน มาลาบอกเล่า copula verb เทียบได้กับ (EN) to be
in
ใน, ที่, บน
et
และ
sed
แต่ว่า
nōn
ไม่
quoque
ก็…เช่นกัน
-ne?
หรือ? เติมท้ายคำในประโยคบอกเล่า เปลี่ยนเป็นประโยคคำถาม
ubi?
ที่ไหน?
num?
หรือ? ทำประโยคบอกเล่าให้เป็นประโยคคำถาม
quid?
อะไร?
grammatica
ไวยากรณ์
singulāris
เอกพจน์
plūrālis
พหูพจน์